หัวข้อ : หลักจริยธรรมในการเผยแพร่ตีพิมพ์ คือ ความรับผิดชอบของใคร
หมวด : หมวดการวิจัย
องค์ความรู้ : ประเด็นอื่นๆที่หน่วยงานเห็นสมควรจัดการความรู้
โครงการ : -
จัดวันที่ : 10/6/2565
ถึงวันที่ : 10/6/2565
สถานที่ : -
จัดโดย : -
เนื้อหา :
หลักจริยธรรมในการเผยแพร่ตีพิมพ์ (Publication Ethics) สำคัญอย่างไร เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “จริยธรรม”
ซึ่งเป็นความหมายเบื้องต้นที่เรารับรู้กันตามความหมายพจนานุกรม คือ
ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม
ซึ่งอาจจะหมายถึงข้อประพฤติที่เป็นปัจเจกบุคคล แต่เมื่อกล่าวถึง หลักจริยธรรมในการเผยแพร่ตีพิมพ์
(Publication Ethics) แล้ว ผู้ประกอบความหมายนี้ให้ปรากฏขึ้น
ต้องอาศัย ผู้ที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กันถึง 3 กลุ่ม คือ 1) ผู้เขียน (Authors) 2) ผู้ทรงคุณวุฒิ (Reviewers) และ 3) บรรณาธิการ (Editors) ที่มีบทบาทร่วมกันในการร่วมกันรักษาจริยธรรมในการเผยแพร่ตีพิมพ์
1) ผู้เขียน (Authors) หรือ ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานเขียนโดยตรง
นอกจากการเขียนผลงานโดยปราศจากอคติในการชี้นำ
หรือให้ความสำคัญกับหลักการทางวิชาการแล้ว
จำเป็นต้องให้ความสำคัญในประเด็นการคัดลอกผลงาน
รวมถึงการให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาและการอ้างอิงข้อมูลที่ถูกต้อง หลายครั้งที่วารสาร
ฯ พบผลงานวิชาการดี ๆ แต่ละเลยการอ้างอิงเอกสาร
ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าผู้เขียนให้ความสำคัญกับเนื้อหาของตนเองเป็นลำดับแรก
แต่ละเลยความรับผิดชอบในการอ้างอิงผลงานที่ได้หยิบยกมาจากผู้อื่น
ขั้นตอนสำคัญที่ผู้เขียนมักมองข้ามในการส่งต้นฉบับบทความ
คือ “การแนบหนังสือนำส่งบทความที่มีรายละเอียดข้อมูลของผู้เขียน”
เอกสารซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์จากผู้เขียนว่า
ได้มอบสิทธิในการดำเนินการแก่วารสารฯ ที่ผู้เขียนเลือก
โดยมีข้อตกลงยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรให้วารสารสามารถดำเนินการพัฒนาต้นฉบับได้โดยชอบธรรม
รวมถึงการเคารพกฎกติกาและเงื่อนไขของวารสารที่เป็นหน้าที่สำคัญของผู้เขียนด้วย
อีกประการหนึ่ง
ความรับผิดชอบของผู้เขียนในกรณีส่งต้นบทความวิจัย
จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแนบหลักฐานการผ่านการรับรองการขอจริยธรรมในมนุษย์
ในกรณีที่ต้นฉบับบทความวิจัยที่เข้าไปศึกษาหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบางที่ควรพิทักษ์สิทธิ
หรือกรณีที่งานวิจัยชิ้นนั้นเป็นประเภทยกเว้นการขอจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
ผู้วิจัยจำเป็นดำเนินการกลั่นกรองงานของตนเองอีกชั้นก่อนการเผยแพร่
แม้กระทั่งการใช้ชื่อของกลุ่มเปราะบางในงานวิจัยที่จำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
2) ผู้ทรงคุณวุฒิ (Reviewers) เป็นกลุ่มคนสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาต้นฉบับ
ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะตามความเชี่ยวชาญของตน
แต่ในกรณีที่ต้นฉบับเป็นงานข้ามศาสตร์ หรือ สหสาขาวิชา (Inter disciplinary) หน้าที่สำคัญของผู้ทรงคุณวุฒิในการรับประเมินงาน คือ
การพิจารณาต้นฉบับและความสามารถในการประเมินงานชิ้นนั้นอีกครั้ง
โดยปราศจากอคติทางวิชาการ
หรือสามารถปฏิเสธการประเมินได้ในกรณีที่พิจารณาแล้วว่าไม่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญ
และสามารถสื่อสารกับกองบรรณาธิการได้ในกรณีที่พบประเด็นประโยชน์ทับซ้อน หรือมีความเสี่ยงต่อหลักจริยธรรม
3) บรรณาธิการ (Editors)
เป็นผู้ถือนโยบายของวารสาร จัดระบบการทำงาน
ชี้แจงผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการของวารสารด้วยข้อมูลที่มีหลักการและมีความชัดเจนรวมถึงมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบต้นฉบับบทความ พร้อมออกแบบกระบวนการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ
และระบบการประเมินที่ดำเนินการโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น
การเลือกระบบการประเมินบทความ แบบปกปิดทางเดียว (Blind Review) หรือ แบบปกปิด 2
ทาง (Double-Blind Review) ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายวารสารแต่ละแห่งที่มีความแตกต่างกันไป
รวมถึงบทบาทการชี้แจงหลักการและเหตุผล และรายละเอียดในการยอมรับหรือปฏิเสธต้นฉบับภายใต้ระบบจัดการวารสารที่เป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มซึ่งบทความนี้เพียงเป็นการหยิบยกประเด็นหลักจริยธรรมในการเผยแพร่ตีพิมพ์เบื้องต้นเท่านั้น
โดยจริยธรรมในการเผยแพร่ตีพิมพ์ (Publication Ethic) ไม่ได้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างบรรทัดฐานการตีพิมพ์ภายใต้หลักการจริยธรรมที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม
ประเด็นเรื่องจริยธรรมในการเผยแพร่ตีพิมพ์ในอนาคต ยังมีความซับซ้อน
และมีหลากหลายเงื่อนไขและปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องที่ควรคำนึงและต้องให้ความสำคัญ
โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การสื่อสารเปิดกว้าง การเข้าถึงข้อมูลต่าง
ๆทำได้อย่างสะดวกขึ้น และการพิทักษ์สิทธิข้อมูลต่าง ๆ
โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลเริ่มมีช่องว่าง และความเปราะบางต่อการล่วงละเมิดมากขึ้น
โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตามมาตรฐานหลักจริยธรรมเป็นเรื่องที่ยังต้องมีการพัฒนาต่อไปในอนาคตตามสภาวการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย