หัวข้อ : “ไกลแต่ใกล้” การผลักดันวารสารวิชาการไทยสู่ฐานข้อมูลนานาชาติ
หมวด : หมวดการวิจัย
องค์ความรู้ : การนำเสนอผลงานวิจัย
โครงการ : โครงการบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการเตรียมความพร้อมวารสารศิลปศาสตร์เข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus
จัดวันที่ : 11/11/2564
ถึงวันที่ : 10/6/2565
สถานที่ : ผ่าน via zoom meeting ID: 981 6919 8517
จัดโดย : งานวิจัยและวารสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เนื้อหา :
สำหรับแวดวงการตีพิมพ์วารสารวิชาการ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า
หากต้นฉบับของนักวิชาการท่านใดได้รับการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลนานาชาติ คงเป็นความท้าทายและรู้สึกยินดีในความสำเร็จนั้น
แต่หากมองมุมการพัฒนาวารสารวิชาการทั้งเล่ม หรือนำวารสารวิชาการไทยผลักดันให้สามารถบรรจุในฐานข้อมูลนานาชาติได้สำเร็จ
คงเป็นภารกิจที่นักวิชาการหลายท่านคงเข้าใจดีว่ามีความท้าทายมากขึ้นหลายเท่า “ไกลแต่ใกล้” คือ คำอธิบายเส้นทางวารสารวิชาการไทยไปสู่นานาชาติ
นอกจากการฝ่าแรงต้านเรื่องอิทธิพลทางภาษาและการสื่อสารในระดับสากลแล้ว
ยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่วารสารฯ ในระดับชาติต้องเตรียมความพร้อม
บทความนี้เป็นการสกัดองค์ความรู้จากการจัดโครงการ
“การบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมวารสารศิลปศาสตร์เข้าสู่ฐานข้อมูล
Scopus” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 โดย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภกรณ์ ภู่เจริญศิลป์ บรรณาธิการวารสาร LEARN ที่รับหน้าที่เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้กับคณะทำงานวารสารศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และแม้ว่า
เป้าหมายการบรรจุวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูลนานาชาตินั้นเป็นเป้าหมายที่ดูห่างไกล
แต่มีเงื่อนไขที่วารสารวิชาการไทยสามารถเริ่มต้น และดำเนินการได้ในประเด็นใกล้ ๆ
ที่สามารถจัดการได้ทันที เสมือนการเริ่มต้นปรับปรุงและออกแบบบ้าน
หรือออกแบบโครงสร้างกองบรรณาธิการนั่นเอง
การสร้างบ้าน
เจ้าของบ้านจำเป็นต้องรู้จักบริบทของบ้านอย่างดีพอ รู้ตัวตนของผู้อาศัย
จึงสามารถสร้างบ้านที่เป็นเหมือนภาพแทนของสมาชิกภายในบ้าน ประหนึ่งการสร้างเอกลักษณ์ของวารสารวิชาการ
ผ่านการกำหนดขอบข่ายเนื้อหาที่ชัดเจน
บ่งบอกพื้นทีทางองค์ความรู้ที่วารสารวิชาการเปิดต้อนรับ อาทิ วารสารศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ ความหลากหลายของศาสตร์ที่รวมกันในวารสาร 1 เล่ม
ทั้งภาษาศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา และสังคมศาสตร์ ที่เข้ามาอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกัน
แต่ในความหลากหลายนั้น
ก็มีความพยายามจัดการพื้นที่และทิศทางความรู้ที่เดินไปด้วยกันได้
สมาชิกภายในบ้าน
หรือ สมาชิกกองบรรณาธิการ
จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่โครงสร้างขอบข่ายเนื้อหาวารสารวิชาการกำหนด
หากพิจารณาตามมาตรฐานของ Scopus สมาชิกกองบรรณาธิการต้องมีความเชี่ยวชาญและมาจากหลากหลายหน่วยงาน
มีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ
และมีความพร้อมต้อนรับสมาชิกผู้เขียนต้นฉบับที่ส่งมาพิจารณาภายใต้ขอบข่ายองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญ
การสื่อสาร
คือ หัวใจสำคัญในการทำงานของกองบรรณาธิการ
ทั้งระบบสื่อสารภายใน ระหว่างสมาชิกภายในกองบรรณาธิการเพื่อการดำเนินงานร่วมกัน
และระบบการสื่อสารภายนอก การสื่อสารกับผู้เขียน ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้อย่างมีระบบ เช่น
การมี website วารสารที่มีคุณภาพมีการประชาสัมพันธ์การเปิดรับบทความประชาสัมพันธ์กระบวนการพัฒนาต้นฉบับ (Work
flowchart) ในแต่ละขั้นตอนได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้การใช้ภาษาอังกฤษ
ภาษากลางในการสื่อสารสากลนั่นเป็นเรื่องที่สำคัญในการประชาสัมพันธ์วารสารฯ
เพื่อเปิดรับสมาชิกกลุ่มนักวิชาการต่างประเทศเข้ามาตีพิมพ์ผลงาน
โดยการเผยแพร่รูปเล่มวารสารวิชาการ จำเป็นต้องเป็นภาษาอังกฤษที่ดำเนินการแล้วต่อเนื่อง
2 ปี
กติกาภายในตัวบ้าน
บ้านที่ไม่มีกติกาย่อมไร้หลักการและทิศทางดำเนินงาน วารสารวิชาการจึงต้องมีกติกาสำหรับสมาชิกภายในบ้านทุกกลุ่มคนทั้งกติกาภายในกองบรรณาธิการ
กติกาสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิ กติกาในกระบวนการประเมินหรือกลั่นกรองผลงาน รวมถึงกติการในการกลั่นกรองคุณภาพต้นฉบับในประเด็น
เนื้อหาที่มีคุณภาพสอดคล้องกับ Aim และ Scope หรือ ทิศทางของวารสารฯ ระเบียบวิธีวิจัย
คุณภาพการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเชิงวิชาการ รวมถึงมีกติกาในการตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์บทความที่ชัดเจน
มีเหตุผลทางวิชาการรองรับ
ทั้งหมดนี้
เป็นเพียงสาระเบื้องต้นที่สกัดมาออกมา เพื่อขยาย แบ่งปัน องค์ความรู้ กับกัลยาณมิตรวารสารวิชาการไทยที่มีเป้าหมายระยะไกลเช่นเดียวกับวารสารศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ
ในการหันมามองบ้านหลังเดิม นั่นคือ วารสารไทย ๆ ของเรา ค่อย ๆ
พัฒนาคุณภาพให้ใกล้เคียงกับคุณภาพวารสารวิชาการในระดับนานาชาติ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ
แต่คือการปรับปรุงเป้าหมายในระยะใกล้ เพื่อตอบสนองเป้าหมายระยะไกล
ที่ต้องอาศัยการปรับปรุง ปรับตัว และการทำความเข้าใจองคาพยพที่มีความหลากหลายแบบ
Liberal Arts เพื่อพัฒนาสู่ระดับสากลไปด้วยกัน